ทัวร์ลาว

ท่องเที่ยวลาว

ประเทศลาว หรือชื่ออย่างเป็นทางการ คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่ 236,800 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล มีพรมแดนติดจีนและพม่าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดต่อกับเวียดนามทางทิศตะวันออก ติดต่อกับกัมพูชาทางทิศใต้ และติดต่อกับประเทศไทยทางทิศตะวันตก สำหรับนักท่องเที่ยวไทยสามารถเดินทางเข้ามายังลาวได้ โดยไม่ต้องมีวีซ่า และอยู่ในประเทศลาวได้ 30 วัน ส่วนบัตรผ่านแดน ชั่วคราว (Temporary Border pass) ท่านสามารถใช้เดินทางเข้าลาวได้ เฉพาะในเขตนครหลวงเวียงจันทน์เท่านั้น และพักอยู่ได้ครั้งละ 3 วัน 2 คืนเท่านั้น

 

สภาพภูมิอากาศ : ประเทศลาวตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น ลักษณะทางภูมิศาสตร์มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ตั้งแต่ภาคกลางจนถึงภาคเหนือในแขวงพงสาลีที่มีเขตแดนอยู่ติดกับประเทศจีน ภูมิประเทศส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนและที่ราบสูงอากาศค่อนข้างหนาวถึงหนาวจัด ส่วนทางทิศตะวันออกมีลักษณะเป็นเทือกเขาและที่ราบติดกับประเทศเวียดนาม สำหรับทางตอนใต้สุดมีลักษณะเป็นเทือกเขาติดกับประเทศกัมพูชา ประกับกับที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมในทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศลาวมีลักษณะทางภูมิอากาศแบ่งออกได้ 3 ฤดู คือ

  • ฤดูร้อน เริ่มต้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ จนถึงเดือนเมษายน
  • ฤดูฝน เริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จนถึงเดือนตุลาคม
  • ฤดูหนาว เริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน จนถึงเดือนมกราคม 

 

เวลา : ระหว่างประเทศไทย กับลาวใช้เวลา เดียวกัน ไม่ต้องมีการปรับเวลา

 

ภาษา : ลาวมีภาษาประจำชาติคือ ภาษาลาว ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับภาษาไทยในแถวๆภาคอีสานของบ้านเรา นอกจากนี้ ชาวลาวบางส่วนยังสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศสได้ดี สำหรับชาวลาวที่อาศัยทางตอนเหนือของประเทศ มีสำเนียงการพูด และ ความหมายของคำบางคำคล้ายคลึงกับภาษาพื้นเมืองในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และเลย ทางตอนเหนือของประเทศไทยอีกด้วย

 

เงินตรา : สกุลเงินของประเทศลาวคือ กีบ สำหรับเงินกีบที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศลาวส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็นใบละ 1,000 2,000 5,000 10,000 20,000 กีบ (ไม่มีเงินในลักษณะเหรียญกษาปณ์) โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ประมาณ 1 บาท เท่ากับ 0.0037 LAK

 

ระบบไฟฟ้า : ระบบไฟฟ้าและปลั๊กไฟของลาวเหมือนเมืองไทยทุกประการ การไปที่นี่จึงไม่ต้องพกตัวแปลงปลั๊กไฟไปเลย แต่หากไปเที่ยวเมืองเล็กๆ ที่ห่างไกลความเจริญออกไป ไฟฟ้าอาจไม่ได้ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

 

ฟิลม์และกล้องถ่ายรูป : ควรเตรียมไปให้เพียงพอโดยเฉพาะฟิล์มเพราะที่ต่างประเทศราคาจะสูงมากโดยเฉพาะ ตามสถานที่ท่องเที่ยว และควรเตรียมถ่านใส่กล้องถ่ายรูปไปด้วยเพราะอากาศเย็นถ่านจะเสื่อมสภาพเร็ว

 

การใช้โทรศัพท์ : โทรศัพท์กลับเมืองไทย : แนะนำให้ใช้บริการโทรศัพท์ผ่านเน็ตตามร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ซึ่งคิดราคาประมาณ 3,000-6,000 กีบ/นาที (ขึ้นอยู่กับว่าโทร.เบอร์บ้านหรือมือถือ) หรือซื้อซิมการ์ดลาวแบบเติมเงินใช้ดีกว่า ราคาถูกกว่าเปิดบริการข้ามแดนจากเมืองไทยไป โดยซิมการ์ดที่คนลาวบอกว่าใช้ดีจะมีอยู่สองเจ้าด้วยกันคือ ทิโก (Tigo) และเอ็มโฟน (M Phone)

 

การให้ทิป :  การให้ทิปในต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องสำคัญ และมารยาทของนักท่องเที่ยวควรให้ทิปสำหรับคนที่ให้บริการท่าน อาทิคนขับรถ / ไกด์ท้องถิ่น ที่คอยอำนวยความสะดวกให้แก่ท่านระหว่างการเดินทาง

 

อาหารการกิน : อาหารการกินสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาดเลยเมื่อได้เดินทางไปเยือน ประเทศลาวคือ ไปชิมอาหารพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อของลาว เช่น "เอาะหลาม" มีลักษณะคล้ายแกงค่ะ "หน่อไม้อั่ว" หรือ หน่อไม้ยัดไส้หมูชุบแป้งทอด ยิ่งทานกับข้าวเหนียว... อร่อยเหาะ "ฝานย่าง" (กวางหรือเก้งย่าง) มักทานคู่กับ ไคแผ่น (สาหร่ายน้ำจืดทอด) และ แจ่วบอง (มีรสชาติคล้ายกับน้ำพริกเผาบ้านเรา) "ส้มตำ" เป็นต้น ท่านสามารถลิ้มลองอาหารลาวรสแซ่บเหล่านี้ ได้ที่ภัตตาคาร ร้านอาหารซึ่งตั้งอยู่ตามโรงแรมในลาว หรือในตัวเมืองท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่

 

รายการช้อปปิ้ง : สำหรับแหล่งช้อปปิ้งในลาวที่เด่นๆ มีดังนี้ ตลาดเช้า เปิดขายตั้งแต่ 07.00 น. - 16.00 น. ตลาดเช้านี้มีสินค้าให้เลือกซื้อมากมายหลากหลายชนิด ทั้งสินค้าพื้นเมือง และสินค้าจากต่างประเทศ อาทิเช่น ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าซิ่น เครื่องเงิน ไม้แกะสลัก เครื่องจักสาน รวมถึงงานฝีมือต่าง ๆ อีกด้วย นอกจากนี้ยังมี ตลาดจีน (ตลาดแลง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ตลาดหนอง) เป็นตลาดที่จำหน่ายสินค้าจากประเทศจีนเป็นหลัก เช่น กระเป๋าแบรนด์เนม เครื่องใช้ไฟฟ้า ของที่ระลึก เสื้อผ้าสำเร็จรูป รวมไปถึงอาหารและเครื่องเทศที่นำเข้าจากประเทศจีนโดยตรง และ ตลาดขัวดิน ตลาดนี้เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าของสดที่ใหญ่ที่สุดในนครเวียงจันทน์ สินค้าส่วนใหญ่เป็นพวกเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ กุ้ง หอย ปู ปลา และสินค้าอื่นๆ ที่ชาวบ้านสามารถสรรหามาได้ ก็จะนำมาวางจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวได้เลือกสรรกัน

 

เทศกาลสำคัญ : เทศกาล งานประจำปีของประเทศลาว ส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา คนลาวจะเรียกงานต่างๆนี้ว่า "งานบุญ" และงานบุญต่างๆนั้นส่วนมากหลายๆงานจะไม่มีกำหนดการที่แน่นอน เนื่องจากประเทศลาวจะนับวันตามปฏิทินจันทรคติ(ข้างขึ้น-ข้างแรม) เทศกาล งานบุญแต่ละช่วงในประเทศลาวในแต่ละเดือน

 

เดือนมกราคม : วันที่ 1 วันขึ้นปีใหม่ (วันหยุดราชการ) จัดเหมือนกับที่ประเทศไทยเรา เป็นการรวมญาติมิตร เพื่อน และนอกจากนี้ ร้านค้าใหญ่ๆหรือเมืองใหญ่ๆจะประดับด้วยแสงสีสวยงาม งานกินเต็ด จะอยู่ในช่วงตรุษจีนของทุกปี ชนเผ่าลาวจะพากันทำความสะอาด ตกแต่งบ้านให้สะอาด งดงามและจะมีการกราบไหว้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษและเทพเจ้า (ไม่ระบุวัน) วันที่ 20 วันสถาปนากองทัพประชาชนลาว (วันหยุดราชการ)

 

เดือนกุมภาพันธ์ :  งานวัดภู (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3)  จะมีก่อนวันมาฆบูชา 2 - 3 วัน จนถึงวันมาฆบูชา จะมีงานเฉลิมฉลองใหญ่ที่ปราสาทวัดพู ภายในงานจะประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และกิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย เช่น การแสดงดนตรีพื้นบ้าน การสู้ควาย การแข่งช้าง ชนไก่ แข่งเรือยาว เป็นต้น ถือว่าเป็นงานประจำปีของลาวใต้เลยก็ว่าได้ (จัดที่เมืองจำปาสัก)

 

-งานบุญสีโคดตะบอง (ขึ้น 15ค่ำ เดือน3)  จะจัดในวันมาฆบูชาของทุกปี ในงานมีพิธีกรรมทางศาสนาและการละเล่นพื้นบ้าน มีการวางจำหน่ายสินค้าจากทางภาคกลางมาขายตลอดจนกว่างานจะเลิก (จัดที่เมืองท่าแขก)

 

-บุญข้าวจี่ (ขึ้น 15ค่ำ เดือน3)  เป็นงานที่จัดในวันมาฆบูชา ชาวลาวจะทำข้าวจี่ไปถวายพระสงฆ์ ที่วัดในช่วงเช้า

 

-งานบุญช้าง  จัดประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ ภายในงานจะมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับช้าง เช่น ขบวนแห่ช้างการแสดงช้างอาบน้ำ และมีการละเล่นพื้นบ้าน

(จัดที่ไซยะบูลี)

 

เดือนมีนาคม : บุญคูนลาน, บุญกองข้าว  เป็นเทศกาลที่จัดหลังฤดูการเก็บเกี่ยว โดยจะมีพระสงฆ์มาทำพิธิเพื่อความเป็นสิริมงคล และแสดงความขอบคุณต่อแผ่นดิน เพื่อให้ปีต่อไปได้ผลผลิตดีขึ้น (จัดที่เมืองสองคอน แขวงสะหวันนะเขต)

 

-บุญผะเหวด, บุญมหาชาติ  จะจัด 3 วัน 3 คืน มีการจัดโรงธรรมด้วยดอกไม้และเครื่องหอม ที่สำคัญมีการฟังเทศน์มหาเวสสันดรตลอดทั้งวัน

 

-วันที่ 8 วันสตรีสากล (วันหยุดราชการ)

 

-วันที่ 22 วันสถาปนาพรรคประชาชนปฏิวัติลาว (วันหยุดราชการ)

 

เดือนเมษายน : บุญปีใหม่ลาว  ตรงกับวันสงกรานต์ไทย มีการสรงน้ำสิ่งศักดิ์ในท้องถิ่น การนับวันจะคล้ายกับปีใหม่ล้านนาภาคเหนือของประเทศไทย (ที่หลวงพระบางจะมีชื่อเสียงมากที่สุกด)

 

-วันเนา  ช่วงเช้าจะมีขบวนแห่พระบาง, ปู่เยอ-ย่าเยอ-สิงห์แก้ว, พระสงฆ์ และนางสังชาน(นางสงกรานต์) แห่รอบเมืองไปจนถึงวัดใหม่สุวันพูมาราม

 

-บุญบั้งไฟ  จัดขึ้นเพื่อบูชาและขอฝนจากเทวดาก่อนถึงฤดูทำนา โดยแต่ละชุมชนจะแข่งบั้งไฟกันสร้างความสนุกสนานให้ชาวลาว (ขึ้นทั่วประเทศ แต่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ เมืองโพนโฮง แขวงเวียงจันทน์)

 

เดือนพฤษภาคม :  วันที่ 1 วันแรงงานสากล (วันหยุดราชการ)

 

-บุญวิสาขบูชา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 )  ชาวลาวจะแห่เทียนไปถวายยังวัด มีความสำคัญและจัดงานเหมือนประเทศไทย

 

เดือนสิงหาคม : บุญอาสาฬหบูชาและบุญเข้าพรรษา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน8 ) ชาวลาวจะมาร่วมทำบุญ ถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝนแด่พระภิกษุสงฆ์

 

เดือนกันยายน : บุญข้าวประดับดิน (แรม 14 ค่ำ เดือน 9)  จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษและวิญญาณไร้ญาติในงานมีพิธีกรรมทางศาสนาและการแข่งเรือยาว และมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าเยอะแยะมากมาย (หลวงพระบางจัดยิ่งใหญ่ที่สุด)

 

-บุญข้าวสลาก,บุญห่อข้าวสลาก (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10)  หลังจากงานบุญข้าวประดับดิน 15 วัน จะมีการจัดงานบุญข้าวสลากขึ้น เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้เปรต ซึ่งเชื่อว่าจะมารับส่วนบุญในวันนี้

 

-เทศกาลแข่งเรือยาว (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10)  เป็นการแข่งเรือยาวที่ยิ่งใหญ่ในแม่น้ำเซบั้งไฟ มีการออกร้านค้า งานแสดงสินค้าหัตถกรรม มีดนตรีการแสดง (แขวงคำม่วน)

 

เดือนตุลาคม : บุญกฐิน (แรม 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12)  พิธิกรรมหลักๆจะเหมือนที่ประเทศไทย  พุทธศาสนิกชนจะไปถวายผ้ากฐินแด่พระสงฆ์ตามวัดต่างๆ

 

-บั้งไฟพญานาค (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11)  จะเหมือนที่ประเทศไทย ส่วนสถานที่ที่ชมบั้งไฟที่มีชื่อเสียงในลาวคือ น้ำงึมและน้ำโขงในเมืองท่าพะบาท แขวงบอลิคำไซ และเมืองปากงึม ห่างจากเวียงจันทน์ไปทางทิศตะวันออก 60 กม.

 

-บุญออกพรรษา(ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11)  พิธีกรรมไม่ต่างจากประเทศไทย ถวายภัตตาหารพระสงฆ์ที่วัดและจะมีการเวียนเทียนรอบวัด (เมืองไซยะบูลีและเมืองหลวงพระบางมีการลอยกระทง ที่เวียงจันทน์มีการแข่งเรือยาวที่ยิ่งใหญ่)

 

เดือนพฤศจิกายน : บุญธาตุหลวง(ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12)  เป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศลาว มีพิธีกรรมและกิจกรรมสำคัญคือ การแห่ปราสาทผึ้ง การใส่บาตร การฟังเทศน์ ส่วนกลางคืนมีการออกร้าน การแสดงมหรสพ คืนวันสุดท้ายของวันงานจะมีการจุดพลุเฉลิมฉลอง (จัดที่นครหลวงเวียงจันทน์)

 

-งานจัดแสดงสินค้าหัตถกรรมลาว (สิ้นเดือนพฤศจิกายน)  เป็นงานที่แสดงสินค้าหัตถกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศลาว สินค้าจะมีผ้าไหม ผ้าฝ้าย ไม้แกะสลัก เครื่องเงิน เป็นต้น (จัดที่ ITECC นครหลวงเวียงจันทน์)

 

เดือนธันวาคม : วันที่ 2 วันชาติ (วันหยุดราชการ)

 

-บุญพระธาตุอิงฮัง  ภายในงานจะมีพิธีกรรมทางศาสนา และยังมีการฟ้อนรถวายองค์พระธาตุและการแสดงมหรสพ  การแข่งกีฬาพื้นบ้าน พร้อมทั้งมีร้านค้าอีกมากมาย

 

-วันที่ 31 วันสิ้นปี จะมีต่อเนื่องไปจนถึงวันปีใหม่

 

สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ : พระธาตุหลวง ( Pha That Luang) แห่งนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่าพระเจดีย์โลกะจุฬามณีเป็นปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งแห่งนครหลวงเวียงจันทน์เลยก็ว่าได้  เป็นศูนย์รวมใจของประชาชนชาวลาวทั่วประเทศนั่นเองครับ  เพื่อนๆจะเชื่อไหมครับว่าพระธาตุแห่งนี้มีตำนานกล่าวมาว่า พระธาตุหลวงนี้นั้นมีประวัติการก่อสร้างมานับพันปีเช่นเดียวกันพระธาตุพนมในประเทศไทย และปรากฏความเกี่ยวพันกันทางประวัติศาสตร์ของดินแดนทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงอย่างแยกไม่ออก  พระธาตุหลวงเวียงจันน์นั้นเป็นพระธาตุใหญ่ที่มีความสวยงามที่สุดในสปป.ลาว สร้างโดยช่างโบราณของลาว มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรมรวมถึงเป็นตัวแทนของสถาปัตยกรรมของลาว ล้านช้าง ด้านหน้านั้นมีอนุสาวรีย์พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ประดิษฐานอยู่ ส่วนองค์พระธาตุหลวงนั้นมีสีเหลืองอร่ามดุจทองที่ปรากฏอยู่ด้านหลังอนุสาวรีย์นั้นนั่นเอง เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในแต่ละปีจะมีงานนมัสการพระธาตุหลวงที่ยิ่งใหญ่ในคืนเพ็ญเดือน 12 ถือเป็นงานทียิ่งใหญ่ระดับชาติ ที่นักเดินทางอย่างเราๆนั้นไม่ควรพลาดที่จะไปเก็บภาพสวยๆพร้อมกับนมัสการพระธาตุหลวงเอาบุญกันด้วย

 

หอพระแก้วหอพระแก้ว เวียงจันทร์  ที่ "อดีตเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต" สถานที่แห่งนี้เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความศักดิ์สิทธิ์มาก  หอพระแก้วนั้นคือ สถานที่ที่เคยประดิษฐาน พระแก้วมรกต หรือ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ตั้งอยู่ที่นครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว นั่นเองครับ แต่ปัจจุบันนี้เหลือเพียงพระแท่นที่ประดิษฐานเท่านั้น เพราะพระแก้วมรกตองค์ปัจจุบันนั้น ได้ถูกอัญเชิญลงมาประทับที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทยเรานั่นเอง

 

หลวงพระบาง ตั้งอยู่ทางเหนือของนครเวียงจันทน์ ระยะทางประมาณ 400 กิโลเมตร เชื่อมต่อถึงกันด้วยทางหลวงหมายเลข 13 ใช้เวลาเดินทางราว 810 ชั่วโมงด้วยกันด้วยถนนที่ไม่ดีนัก มีเครื่องบินจากนครเวียงจันทน์ถึงหลวงพระบางโดยสายการบินลาว ใช้เวลาบินประมาณ 45 นาที ที่เที่ยวที่เด่นๆสถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่ในหลวงพระบาง ซึ่งเป็นราชธานีเก่าแก่ คือการเที่ยววัด ซึ่งมีศิลปะงดงาม มีขนากระทัดรัดไม่ใหญ่โต แม้ว่าจะมีวัดต่างๆมากมายถึง 40 วัด แต่ที่เที่ยวชมเด่นๆ จะอยู่ที่วัดเชียงทอง วัดภูษี วัดวิชุนราช วัดใหม่สุวรรณภูมาราม พระราชวังหลวง ถ้ำติ่ง น้ำตกกวางชี ช่วงท้ายๆ หามีเวลาเหลือมักจะไปซื้อของฝาก ในตลาดหรือในหมู่บ้านต่างๆ

 

ประตูชัย แห่งนี้สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2512  ครับ  เรียกได้ว่าความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้ยาวนานมากๆเลยครับ  ก็อย่างที่บอกว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน  ประตูชัยนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า รันเวย์แนวตั้งครับ นั่นก็เพราะว่า การก่อสร้างประตูชัยแห่งนี้นั้น ใช้ปูนที่อเมริกาซื้อมาเพื่อนำมาสร้างสนามบินใหม่ในนครเวียงจันทน์ในระหว่าง สงครามอินโดจีนนั่นเอง แต่ก็ไม่ทันได้สร้างเลยก็เกิดแพ้สงครามในอินโดจีนเสียก่อน จึงมีการนำปูนซีเมนต์มาสร้างประตูชัยแทนความสวยงามของประตูชัยนั้นมีอยู่ที่ลักษณะสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากประตูชัยในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นั่นเอง  ถ้าเพื่อนเปรียบเทียบกันดูจะเห็นว่ามีส่วนที่คล้ายคลึงกันมาก แต่ลักษณะสถาปัตยกรรมนั้นก็ยังมีเอกลักษณ์ของลาวปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปศิลปะลาว ภาพเรื่องราวมหากาพย์รามายณะ แบบปูนปั้นใต้ซุ้มประตูโค้งของประตูชัย บันไดวนให้ขึ้นไปชมทิวทัศน์ของนครเวียงจันทน์  และถ้าเพื่อนๆเดินขึ้นไป ตลอดบันไดวนของประตูชัยจะแบ่งออกเป็นชั้นๆ ซึ่งแต่ละชั้นนั้นก็จะมีร้านจำหน่ายของที่ระลึก เปิดให้นักท่องเที่ยวได้ขึ้นชมวิวทิวทัศน์ทุกวัน และในตอนเย็นจะมีประชาชนชาวลาว มาออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมร่วมกันที่นี่ด้วยเรียกได้ว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความเป็นมายาวนานและนักเดินทางอย่างเราไม่ควรพลาด  สำหรับการเข้าชมสถานที่แห่งนี้นั้นต้องเสียค่าทำเนียมด้วยครับ ค่าเข้าชม ผ่านประตูคนละ 2,000 กีบ (อัตราแลกเปลี่ยนก็ประมาณ 240-270 กีบ ต่อ 1 บาท) เวลาเปิดให้เข้าชม ตั้งแต่เวลา 08.0017.00 น.

 

วังเวียง (Vang Vieng) วังเวียง (Vang Vieng) เมืองเล็ก ๆ ริมแม่น้ำซองที่มีเสน่ห์ล้นเหลือ ด้วยธรรมชาติที่สวยงาม ถูกล้อมรอบด้วยภูเขาและแม่น้ำ ลักษณะภูมิประเทศเช่นนี้ทำให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักเดินทางผู้หลงใหลธรรมชาติ อยากไปสูดอากาศบริสุทธิ์ หรืออยากสัมผัสกับทัศนียภาพอันงดงามของทิวเขา หรือคนที่ชอบกิจกรรมแนวแอดเวนเจอร์ ที่นี่ก็มีกิจกรรมที่น่าสนใจหลากหลาย เช่น เดินทางไกลชมป่าไม้ ปีนเขา ชมถ้ำ หรือล่องห่วงยางเล่นบนแม่น้ำซอง ฯลฯ

 

น้ำตกหลี่ผี (ตาดสมพะมิด)   น้ำตกหลี่ผีแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตดอนคอน    ช่วงที่เหมาะสมแก่การเที่ยวชมคือเดือน ตุลาคม พฤศจิกายน  เพราะจะเห็นสายน้ำจำนวนมาก ในแก่งหลี่ผีที่ไหลถาโถมผ่านเนินหินโขดหินลงมาด้วยกำลังแรงแตกเป็นละอองสีขาวไปทั่วแก่งดูสวยงาม หลี่  เป็นภาษาลาว หมายถึง  เครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายลอบ  ส่วนคำว่า ผี  หมายถึงศพคนตายนั่นเอง   ซึ่งบริเวณน้ำตกหลี่ผีแห่งนี้จะมีกระแสน้ำไหลบ่าตามพื้นที่ราบ ผ่านแผ่นหิน  แล้วไหลตกลงมาตรงช่องซอกเขาที่แตกแยกออกจากันนั่นเอง กระแสน้ำสีเขียวเข้มในหน้าแล้งหรือสีชาในฤดูฝนนั้นจะไหลบ่าตกลงมาเบื้องล่าง  จากนั้นจึงไหลไปตามรอยแยกของซอกเขาเป็นทางยาวหลายกิโลเมตร   ส่วนจุดที่พบศพจำนวนมากนั้น คือ บริเวณร่องหินของน้ำตกหลี่ผีนั่นเอง บริเวณนี้กระแสน้ำจะไหลมารวมตัวกัน กลายเป็นแอ่งขนาดใหญ่  จากนั้นน้ำจะวนไปมาแล้วจึงไหลตกลงไปด้านล่างซอกหลืบหินแคบๆ  ทำให้ศพของทหารในสมัยสงครามอินโดจีนจำนวนมากลอยมาติดในหลี่จับปลา สำหรับการเดินทางไปแก่งหลี่ผีนั้น แก่งหลี่ผีจะอยู่ใกล้กับน้ำตกคอนพะเพ็ง เพียงแต่ต้องนั่งเรือหางยาวจากบ้านนากะสัง ลัดเลาะแม่น้ำโขงสู่บ้านดอนคอนนั่นเองครับ จากนั้นเดินผ่านหมู่บ้านริมแม่น้ำโขงไปแก่งหลี่ผีอีก 2 กิโลเมตร หรือใครจะเลือกนั่งรถอีแตก ไป-กลับ ราคาอยู่ที่ 40 บาท แต่ฝากเตือนนักเที่ยวไว้หน่อยก้แล้วกันครับ เส้นทางที่ไปน้ำตกหลี่ผี นั้นเป็นเส้นทางที่ทรหดอดทนพอสมควร

 

น้ำตกตาดผาส้วมตาดผาส้วม แค่ชื่อก็อาจฟังดูไม่คุ้นหูสำหรับคนไทยเท่าไรนัก แต่จริงๆแล้วค่ำว่า ส้วม ของลาวหมายถึงห้องนอนที่กั้นไว้สำหรับลูกสาวลุกเขยโดยเฉพาะ ส่วนตาดแปลว่าลานหินที่เป็นชั้นๆ จุดเด่นของน้ำตกตาดผาส้วมคือ สายน้ำที่ไหลผ่านหินผาขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเป็นแท่งๆ รูปร่างคล้ายห้องหอของคู่บ่าวสาวดูสวยงามนอกจากนี้ภายในอุทยานยังมีพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมเอาหมู่บ้านโบราณของหลายชนเผ่ามาจัดแสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชมกัน เช่น บ้านของขาวกระต้าง ซึ่งเป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบๆน้ำตกนี้ บ้านของชาวเผ่าอาลัก บ้านของชาวกระตู้ หอกวน ที่ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของชาวเผ่าละแว ภายในจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ของชาวเผ่าให้ชมเป็นจำนวนมาก และหอสูงของชาวละแวที่ใช้เป็นที่สังเกตการณ์ภายในหมู่บ้าน และที่น่าสนใจที่สุดคือบ้านพักของทางอุทยานที่ตกแต่งได้สวยงามอย่างลงตัว ด้วยวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น

น้ำตกคอนพะเพ็ง เป็นน้ำตกที่ขนาดใหญ่ที่สุดในเขตแม่น้ำโขงตอนล่าง ตั้งอยู่บนแก่งหินขนาดใหญ่ขวางกั้นเส้นทางการไหลของแม่น้ำโขงทั้งสาย มีลักษณะต่างระดับกันสูงประมาณ 10 เมตร ซึ่งแม้จะมีชั้นของหินไม่สูงมากนัก แต่กระแสน้ำที่ไหนถามโถมลงมามีความรุนแรงมาก ด้วยแม่น้ำโขงทั้งสายไหลลงมาจากนั้นจะแยกออกเป็นหลายสาย สาเหตุเพราะแรงดันของน้ำจำนวนมหาศาลที่ไหลบ่าถาโถมกระหน่ำลงมาจากชั้นหินราวกับจะถล่มทลายแก่งหินอย่างดุดันและเกรี้ยวกราด สร้างความตื่นตาที่น่าประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว สมกับคำร่ำรือและยกย่องให้เป็น ไนแองการ่า แห่งเอเชีย ความยิ่งใหญ่ของสายน้ำที่กระโจนบิดตัวปะทะแก่งหินน้อยใหญ่ จนเดือดพล่านกระจายเป็นละอองไอน้ำแทรกตัวปกคลุมอยู่ตามแก่งหินแทบทุกอณูของบรรยากาศ ภาพของน้ำตกคอนพะเพ็งที่น่าตื่นตาตื่นใจ สามารถมองเห็นได้ชัดเจนที่สุดจากศาลาไม้ที่สร้างไว้บนเหนือบริเวณที่กระแสน้ำไหลบ่าถาโถมลงมารวมตัวกันพอดี แต่หากต้องการสัมผัสความยิ่งใหญ่ของน้ำตกอย่างใกล้ชิดจากศาลาไม้ก็มีทางเดินลงมาชมบริเวณตัวน้ำตกในอีกมุมมองได้เช่นกันชาวบ้านบางคนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้มักยอมเสี่ยงตายปีนบันไดไม้ไผ่ออกไปวางเบ็ด หรือบางคนลงไปทอดแหหาปลาบริเวณด้านล่างของน้ำตกคอนพะเพ็งอยู่เสมอ บริเวณน้ำตกมีร้านอาหารที่มีเมนูเด้ดอย่างปลาแม่น้ำให้เลือกมากมาย

 

นครหลวงเวียงจันทน์เมืองหลวงของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประกอบไปด้วยเมือง (อำเภอ) ทั้งหมด 6 เมือง คือ เมืองจันทะบุลี, เมืองสีสัดตะนาก, เมืองไซเสดถา, เมืองสีโคดตะบอง, เมือง เมืองหาดซายฟอง และตอนใต้ของเมืองไซทานี มีเนื้อที่ 3,920 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรประมาณ 692,900 คน (พ.ศ. 2547) ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตรงข้ามกับอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคายของประเทศไทย เมืองหลวงรูปพระจันทร์เสี้ยวของลาวแห่งนี้ ยังคงไว้ซึ่งบรรยากาศเงียบสงบ ชาวเมืองทั่วไปดำเนินชีวิตประจำวันอย่างเรียบง่าย แตกต่างจากเมืองหลวงอื่นๆ ของเอเชียในหลายประเทศ ปัจจุบันการเดินทางมาท่องเที่ยวเวียงจันทน์นั้นแสนสะดวก เพียงข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จากชายแดนหนองคายข้ามลำน้ำโขงไป 1,240 เมตร และเดินทางต่ออีกประมาณ 20 กิโลเมตร ก็ถึงนครหลวงเวียงจันทน์แล้ว หลังจากนั้นคุณสามารถเลือกใช้บริการรถสามล้อเครื่อง (รถจัมโบ้) เที่ยวรอบตัวเมืองได้ตามสะดวก สถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะต่างจากบ้านเราคือ ปิดเวลาเที่ยงแล้วเปิดให้เข้าชมอีกทีตอนบ่ายโมง สำหรับนักท่องเที่ยวที่มีเวลาจำกัดสามารถเลือกเดินทางแบบ 1 วันก็ได้ แต่หากมีเวลาสักหน่อยควรจะมีเวลาเดินทางสัก 2 วัน 1 คืน จะได้ไม่รีบเร่งจนเกินไป เมื่อมาเยือนนครหลวงเวียงจันทน์แล้ว สถานที่แห่งแรกที่ไม่ควรพลาดคือ พระธาตุหลวง ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ประจำชาติลาว มีความหมายต่อจิตใจชาวลาวอย่างใหญ่หลวง ถัดมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือบนถนนล้านช้างเป็นที่ตั้งของประตูชัยหรือรันเวย์แนวตั้ง ที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศสและความงามของพุทธศิลปะลาวได้อย่างลงตัว ส่วนวัดต่างๆ ในตัวเมืองก็มีความน่าสนใจเช่นกัน ตั้งแต่วัดสีเมือง สถานที่ตั้งของเสาหลักเมือง ที่ชาวลาวเดินทางไปสักการบูชาเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน วัดสีสะเกด วัดที่เก่าแก่ที่สุดในนครหลวงเวียงจันทน์ หลังจากนั้นข้ามถนนมาฝั่งตรงข้ามจะถึงหอพระแก้ว ซึ่งอดีตเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกตที่อัญเชิญมาจากล้านนา ปิดท้ายด้วยการแวะชมวัดเชียงควน สวนพระพุทธรูปอันแปลกตา เป็นต้น

 

วัดสีเมืองเป็นวัดหนึ่งในนครหลวงเวียงจันทน์ ที่ในแต่ละวันมีประชาชนชาวลาวเดินทางไปสักการบูชากันเป็นจำนวนมาก ภายในวัดเป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองประจำนครเวียงจันทน์ หลังจากเสนาอำมาตย์ของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้ลงความเห็นให้สร้างวัดสีเมืองในปี พ.ศ.2106 ก็ได้มีการขุดหลุมขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อทำพิธีตั้งเสาหลักเมือง มีเรื่องเล่าว่าในวันทำพิธี ทางการได้นำเสาหลักเมืองไปแขวนเอาไว้เหนือหลุม รอให้มีคนกะโดดลงไปและผู้ที่สมัครใจก็คือหญิงมีครรภ์ผู้หนึ่ง จากนั้นจึงตัดเชือกปล่อยเสาลงไปทับหญิงผู้นั้นให้ตกตายไป หลังจากนั้นจึงทำการสร้างสิมครอบเสาหลักเมืองเอาไว้ ต่อมาถูกกองทัพสยามทำลายลงในปี พ.ศ.2458 ภายในวัดมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่มากมาย และมีอยู่องค์หนึ่งที่เก่าแก่ที่สุด น่าจะสร้างขึ้นก่อนปีพ.ศ.2371 พระพุทธรูปองค์นี้ชำรุดไปบางส่วน ชาวลาวเชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ใครไปบนบานศาลกล่าวสิ่งใดเป็นต้องได้สมใจ ด้านหน้าฝั่งตรงข้ามประตูทางเข้าจึงมีร้านจำหน่ายดอกไม้ ธูป เทียน และร้านจำหน่ายผลไม้ให้บริการ ทางทิศตะวันออกของวัดสีเมืองมีสวนสาธารณะเล็กๆ มีพระบรมรูปของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ตั้งอยู่บนแท่นสูงกลางสวนสาธารณะ พระหัตถ์ทรงถือสมุดใบลานที่จารึกประมวลกฎหมายฉบับแรกของลาวเอาไว้ พระบรมรูปเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์นี้เป็นของขวัญที่ทางสหภาพโซเวียต มอบมาให้ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลังจากนั้นแผ่นป้ายโลหะจารึกพระนามถูกฝ่ายคอมมิวนิสต์รื้อทิ้งออกไปภายหลังได้รับชัยชนะในสงครามปลดปล่อยเมื่อปี พ.ศ.2518

 

วัดองค์ตื้อมหาวิหาร วัดองค์ตื้อมหาวิหาร, เวียงจันทน์จุดเด่นน่าชมของวัดนี้อยู่ที่ พระองค์ตื้อ เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่รุ่นแรกๆ ของนครเวียงจันทน์ สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเสด็จกลับจากเชียงใหม่ เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่ชาวลาว ในสมัยที่พม่ากำลังแผ่อำนาจเข้ามามากขึ้นทุกทีสำหรับตัวอุโบสถ คงได้รับการบูรณะมาหลายครั้งเพราะยังอยู่ในสภาพดี หลังคาที่แอ่นโค้งลงมาอาจจะสืบทอดมาจากสถาปัตยกรรมแบบหลวงพระบาง ตกแต่งด้วย โหง่ และช่อฟ้า หน้าบันแกะสลักรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ถัดมาที่บานประตูสร้างถวายโดยเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา แกะสลักโดยช่างหลวงพระบาง ที่ชื่อ เพียตัน ผู้แกะสลักบานประตูโรงเก็บราชรถที่วัดเชียงทองนั่นเอง

 

ศูนย์วัฒนธรรมชนกลุ่มน้อย ศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้บริหารงานโดยองค์การท่องเที่ยวแห่งประเทศลาว ภายในจำลองบ้านเรือนของชาวลาวลุ่ม ลาวเทิง ลาวสูง มีลานสำหรับใช้แสดงศิลปวัฒนธรรมของชาวลาว นอกจากนั้นยังมีสวนสัตว์ขาดเล็กและสวนกะปอมหลวง (ไดโนเสาร์จำลอง) ขนาดเท่าตัวจริงไว้ให้ได้ชมอีกด้วย บริเวณด้านหลังของศูนย์วัฒนธรรมอยู่ติดแม่น้ำโขง มีร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม ชาวลาวนิยมพาครอบครัวทางนั่งรับประทานอาหารและพักผ่อนกันด้านหลังศูนย์วัฒนธรรมที่ติดกับแม่น้ำโขงนี้เป็นจำนวนมาก

 

วัดเชียงควนวัดเชียงควน, นครหลวงเวียงจันทน์หากนักท่องเที่ยวที่มีเวลาน้อย แต่ก็ควรหาโอกาสไปเที่ยวในเขตชานเมืองดูบ้าง บนถนนท่าเดื่อห่างจากตัวเมืองมาทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 25 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของวัดเชียงควน ภายในมีสวนพระพุทธรูปในศาสนาพุทธและเทวรูปในศาสนาฮินดู รูปลักษณะสวยงามแปลกตา หากมาเยือนนครหลวงเวียงจันทน์แล้ว ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง นาย บุญเหลือ สุริทัต ได้สร้างสวนพระแห่งนี้ขึ้น โดยนำหลักคำสอนของศาสนาพุทธและศาสนาฮินดูมารวมเข้าไว้ด้วยกัน จนเป็นที่ศรัทธาและเลื่อมใสของชาวลาวและชาวไทยทางภาคอีสาน ภายในสวนพระที่วัดเชียงควนแห่งนี้มี พระวิษณุ พระศิวะ พระพุทธรูป และรูปปั้นแปลกๆ อีกมากมาย เมื่อรวมเข้ากับอาคารทรงฟักทองขนาดใหญ่ยิ่งทำให้ดูน่าสนใจยิ่งขึ้น อาคารฟักทองประกอบด้วย 3 ชั้น แทนสวรรค์ โลกมนุษย์ และนรก ชั้นบนสุดมีบันไดเวียนเดินขึ้นไปยังจุดชมวิวสามารถมองเห็นทิวทัศน์บริเวณวัดเชียงควน สวนสวย และทิวทัศน์บรรยากาศริมฝั่งแม่น้ำโขง ได้อย่างชัดเจน ปัจจุบันวัดเชียงควนแห่งนี้ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก

 

วัดสีสะเกด วัดสีสะเกด, เวียงจันทน์วัดสีสะเกดเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในนครหลวงเวียงจันทน์ที่ไม่ควรพลาดชม เมื่อแรกสร้างมีชื่อว่า วัดสตสหัสสารามซึ่งมีความหมายว่า วัดแสนแต่เหตุที่ประชาชนเรียกว่าชื่อวัดนี้ว่า วัดสีสะเกด (ศรีษะเกศ) เนื่องจากวัดแห่งนี้หันหน้ามาทางพระราชวังหรือทิศหัวนอนของเจ้าอนุวงศ์ เพื่อที่ว่าเมื่อท่านทรงตืนบรรทมหรือเข้าบรรทมก็สามารถไหว้พระในวัดสีสะเกดได้ทั้งตอนเช้าและค่ำ เจ้าอนุวงศ์ได้สร้างวัดแห่งนี้ในบริเวณวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งซึ่งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับพระราชวัง ลักษณะการจัดวางแผนผังแตกต่างไปจากวัดอื่นๆ ในนครหลวงเวียงจันทน์ คือระเบียงที่ล้อมรอบพระอุโบสถเป็นการแบ่งเขตพุทธาวาสออกจากเขตสังฆวาสอย่างชัดเจน และเนื่องจากในสมัยนั้นลาวตกเป็นเมืองขึ้นของไทย เจ้าอนุวงศ์จึงออกแบบวัดตามอย่างศิลปะไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กองทัพสยามไม่ทำลายวัดแห่งนี้ลงหลังจากยกทัพเข้าตีนครเวียงจันทน์ได้สำเร็จในปี พ.ศ.2317 จึงนับได้ว่าวัดสีสะเกดอาจเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดในนครเวียงจันทน์ เพราะวัดอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมดล้วนเป็นวัดที่ถูกบูรณะขึ้นมาใหม่หลังจากนครเวียงจันทน์แตกในครั้งนั้นทั้งสิ้น ทางเข้าพระอุโบสถบริเวณประตูด้านขวามีศิลาจารึกสร้างด้วยหินทรายเนื้อละเอียด บรรยายถึงประวัติการสร้างการจัดวาง และการสมโภชเฉลิมฉลองของวัดสีสะเกดแห่งนี้ ถัดมาบริเวณผนังด้านในของระเบียงที่ล้อมรอบพระอุโบสถเอาไว้นั้น มีการทำช่องกุดเล็กๆ ลักษณะเป็นซุ้มโค้งแหลมจำนวนมากสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปเงินและพระพุทธรูปดินเผามากกว่า 6,800 องค์ ส่วนใหญ่เป็นพระที่สร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 16-19 ที่นครเวียงจันทน์ นอกจากนี้ผนังภายในพระอุโบสถมีรูปแต้มระบายสีเก่าแก่ที่สุดในนครเวียงจันทน์ และมีช่องกุดเล็กๆ ด้านบนสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปเช่นเดียวกับระเบียงด้านนอกสำหรับระเบียงด้านตะวันตกเป็นสถานที่เก็บรวบรวมเศษชิ้นส่วนของพระพุทธรูปที่ถูกกองทัพสยามทำลายลงในสงครามเมื่อปี พ.ศ.2317 ด้านหลังของพระอุโบสถมีรางไม้รูปทรงคล้ายพระยานาคใช้เป็นรางสำหรับสรงน้ำพระในเทศกาลปีใหม่ลาว (สงกรานต์) ส่วนทางด้านซ้ายมือเป็นหอไตรสร้างตามแบบอย่างศิลปะพม่า สำหรับคัมภีร์พระไตรปิฎกทางพุทธศาสนาต่างๆ ถูกกองทัพสยามอัญเชิญมาไว้ยังกรุงเทพฯ

Visitors: 813,340